พื้นที่โฆษณา

ข่าวเอเชีย - มณฑลกุ้ยโจวสืบสานมรดกโลกทางการเกษตรด้วยระบบการเลี้ยงเป็ดและปลาในนาข้าว

ข่าวประชาสัมพันธ์

Press Release

ชอบหน้านี้?
Dataxet Infoque... 19 ก.ย. 67 39.3K

ฟังข่าวนี้

พื้นที่โฆษณา

มณฑลกุ้ยโจวสืบสานมรดกโลกทางการเกษตรด้วยระบบการเลี้ยงเป็ดและปลาในนาข้าว

กรมเกษตรและกิจการชนบท มณฑลกุ้ยโจว

กุ้ยหยาง จีน, 19 ก.ย. 2567 /ซินหัว-เอเชียเน็ท/ดาต้าเซ็ต

อำเภอฉงเจียง (Congjiang County) ในมณฑลกุ้ยโจวทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยหลากหลายชาติพันธุ์ และได้สืบทอดวิธีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมของจีนที่ยังคงเปี่ยมมนต์เสน่ห์มาจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางทุ่งนากว้างใหญ่ไพศาลบนไหล่เขาที่ลดหลั่นเป็นขั้นบันได ข้าว ปลา และเป็ดได้เติบโตอย่างอุดมสมบูรณ์ในผืนนาเดียวกัน

ความสำเร็จด้านการเกษตรด้วยการปลูกข้าวหนึ่งฤดูกาล เลี้ยงปลาหนึ่งรุ่น และเลี้ยงเป็ดหนึ่งรุ่นในทุ่งนาเดียวกัน ได้รับการสืบทอดมาเป็นเวลานับพันปีในฉงเจียง

ระบบนิเวศข้าว-ปลา-เป็ด (Rice-Fish-Duck Ecosystem) ในอำเภอฉงเจียงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการนำร่องเพื่อการคุ้มครองระบบมรดกโลกทางการเกษตร (Globally Important Agricultural Heritage Systems - GIAHS) ในปี 2554 และได้รับการคัดเลือกเป็นมรดกวัฒนธรรมเกษตรที่สำคัญของจีนเป็นกลุ่มแรกเมื่อปี 2557

เมื่อล่วงเข้าสู่ยาม "กู๋อวี่" หรือเม็ดฝน (Guyu หรือ Grain Rain) ใน 24 ฤดูลักษณ์ (Solar Term) ตามปฏิทินจัทรคติจีน เป็นเวลาที่เหล่าเกษตรกรจะได้เริ่มต้นการทำงานในทุ่งนาขั้นบันไดตั้งแต่ปลูกต้นกล้าในนาข้าว พร้อม ๆ ไปกับการปล่อยปลาลงในแปลงนา จากนั้นเมื่อลูกปลาโตได้ขนาดสองถึงสามนิ้ว ลูกเป็ดที่เพิ่งฟักออกจากไข่ก็จะถูกนำไปปล่อยในทุ่งนาเดียวกัน

นาข้าวเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติสำหรับปลาและเป็ด ขณะที่ปลาและเป็ดก็ช่วยกำจัดศัตรูพืชและวัชพืชออกจากทุ่งนา จึงช่วยลดการใช้ยาฆ่าแมลงและสารกำจัดวัชพืชลงได้อย่างมาก นอกจากนี้ มูลปลาและเป็ดยังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติสำหรับข้าว เกษตรกรจึงเก็บเกี่ยวผลผลิต ทั้งข้าว ปลา และเป็ดได้จากทุ่งนาเดียวกันในเวลาเดียวกัน

อำเภอฉงเจียงใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศข้าว-ปลา-เป็ดอย่างเต็มที่ โดยนอกจากจะเป็นการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมการเกษตรไม่ให้สูญหายแล้ว ยังช่วยให้คนในท้องถิ่นขจัดความยากจนและฟื้นฟูชนบทไปพร้อมกันด้วย

ในระหว่างการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพครั้งที่ 15 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศแคนาดาเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ระบบนิเวศข้าว-ปลา-เป็ดในอำเภอฉงเจียงได้แสดงให้โลกประจักษ์ถึงภูมิปัญญาบรรพบุรุษในด้านการเกษตรและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของคนในท้องถิ่นมาเป็นเวลาหลายพันปี

ในปี 2566 ระบบนิเวศข้าว-ปลา-เป็ดในฉงเจียงได้ถูกรวบรวม และได้รับการยอมรับถึงความเป็นเลิศในระหว่างการประกวดข้อเสนอโครงการลดความยากจน Global Solicitation on Best Poverty Reduction Practices ครั้งที่ 4

อำเภอฉงเจียงเป็นแหล่งปลูกข้าวเซียงเหอนั่ว (Kam Rice) ของจีน ซึ่งเป็นข้าวชนิดพิเศษที่ชาวต้ง (Dong) ชนกลุ่มน้อยในมณฑลกุ้ยโจวได้นำมาปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมืองตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อน นอกจากนี้ ด้วยความที่ชาวอำเภอฉงเจียงเป็นชนกลุ่มน้อยถึงร้อยละ 90 ที่นี่จึงเป็นอู่วัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่สมบูรณ์หลากสีสัน และได้รับการยกย่องให้เป็นอุทยานยีนนิเวศวัฒนธรรมแห่งชาติ (The National Ecological Cultural Gene Park)

เมื่อก้าวเท้าเข้าสู่หมู่บ้านบนภูเขาในอำเภอฉงเจียง ผู้มาเยือนจะได้พบกับบ้านเรือนแบบดั้งเดิม หอกลอง และยุ้งฉางโบราณตั้งอยู่กระจัดกระจาย และถ้ามีโอกาสได้แวะไปเยือนฉงเจียงระหว่างฤดูเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง คุณจะได้เห็นรวงข้าวสีทองห้อยย้อยลงมาเป็นแถวในนาข้าว ประดับความงดงามให้กับภูมิทัศน์ของหมู่บ้าน

ที่มา : กรมเกษตรและกิจการชนบท มณฑลกุ้ยโจว

พื้นที่โฆษณา
ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้จัดทำโดย Dataxet Infoquest Admin ซึ่งเป็นสมาชิกเว็บไซต์ของเรา ความคิดเห็นของผู้เขียนและเนื้อหาที่แบ่งปันในหน้านี้ถือเป็นความคิดเห็นของตนเอง และอาจไม่จำเป็นต้องแสดงถึงมุมมองของ ไทย พีอาร์ นิวส์ หากบทความนี้มีความไม่เหมาะสม โปรดใช้วิจารญาณในการรับชม เนื่องจากทางเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
พื้นที่โฆษณา