พื้นที่โฆษณา

ข่าวเอเชีย - จีนผลักดันโครงการโซลาร์เซลล์ในทะเลทราย หนุนรายได้เกษตรกร

ข่าวประชาสัมพันธ์

Press Release

ชอบหน้านี้?
Dataxet Infoque... 12 ก.ย. 67 34.8K

ฟังข่าวนี้

พื้นที่โฆษณา

จีนผลักดันโครงการโซลาร์เซลล์ในทะเลทราย หนุนรายได้เกษตรกร

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของสำนักข่าวซินหัวสาขามองโกเลียใน

ออร์ดอส, จีน, 12 ก.ย. 2567 /ซินหัว-เอเชียเน็ท/ดาต้าเซ็ต

เมื่อมองจากมุมสูง โซลาร์เซลล์สีฟ้าจำนวน 196,000 แผง ก่อตัวกันเป็นรูปม้าที่กำลังวิ่งฝ่าทะเลทรายคูปู้ฉี

เมื่อเดินชมรอบ ๆ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านไฉเติงของเมืองออร์ดอส นักท่องเที่ยวต่างรู้สึกทึ่งไปกับพืชพรรณสีเขียวและแผงโซลาร์เซลล์ที่หมุนตามดวงอาทิตย์ราวกับดอกทานตะวัน แทบไม่อยากเชื่อว่าที่นี่เคยเป็นดินแดนแห้งแล้งที่ถูกเรียกว่า "ทะเลมรณะ"

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จุ่นหม่า ซึ่งแปลว่าม้าในภาษาจีนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของ "กำแพงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยักษ์" อันเป็นโครงการสุดทะเยอทะยานเพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ฟื้นฟูทะเลทราย ทอดยาวตามแนวตอนเหนือของทะเลทรายคูปู้ฉีและทางใต้ของแม่น้ำเหลือง

โครงการพลังงานแสงอาทิตย์นี้มีความยาวประมาณ 400 กิโลเมตร และกว้างเฉลี่ย 5 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีกำลังการผลิตติดตั้งถึง 100 ล้านกิโลวัตต์

การฟื้นฟูทะเลทรายด้วยพลังงานแสงอาทิตย์นั้นให้ประโยชน์มากมาย โดยแผงโซลาร์ช่วยลดการระเหยของน้ำใต้ดินได้ 20-30% ทั้งยังให้ร่มเงา และลดความเร็วลม ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ส่งผลให้พืชพรรณ เช่น หญ้าอาหารสัตว์ที่ช่วยต้านฝุ่นและทรายนั้นเติบโตได้ดี ซึ่งในพื้นที่แห้งแล้งนั้น การนำปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์มารวมเข้ากับระบบน้ำหยด ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับทะเลทราย

โมเดล "ผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ควบคู่กับฟื้นฟูทะเลทราย" ซึ่งมีแผงโซลาร์ทำหน้าที่ผลิตพลังงานสะอาดด้านบน ขณะที่พืชและปศุสัตว์เติบโตอยู่ด้านล่างนั้น กำลังเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างรายได้ และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น

ชาวบ้านกำลังสำรวจหาช่องทางต่าง ๆ ในการเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่าที่ดินทะเลทราย การมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโครงการ และการทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) โดยมีการส่งเสริมบรรดาบริษัทในแวดวงพลังงานใหม่และบริหารจัดการระบบนิเวศ ในการจ้างงานเกษตรกรและคนเลี้ยงสัตว์ในท้องถิ่นทั้งในช่วงก่อสร้างและดำเนินการ

หลี่ ไค (Li Kai) เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพลังงานเขตดาลัด ได้ยกให้โครงการฐานพลังงานใหม่ตอนกลาง-เหนือ ณ ทะเลทรายคูปู้ฉีในเมืองออร์ดอสเป็นตัวอย่างที่โดดเด่น โดยในปี 2566 นั้น โครงการนี้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไป 2.18 ล้านแผง และจ้างงานกว่า 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรในท้องถิ่นที่มีรายได้ตั้งแต่วันละ 300 หยวน (ราว 42 ดอลลาร์สหรัฐ) ไปจนถึง 500 หยวน

โครงการฟื้นฟูทะเลทรายด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มักมีระบบป่าป้องกันรอบ ๆ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ โดยใช้แนวกั้นทรายแบบตาข่ายหญ้า (ใช้วัสดุเช่น ฟางข้าวสาลี ฟางข้าว และไม้รวก จัดเรียงเป็นรูปแบบตาราง เพื่อลดการกัดเซาะจากลมและรักษาความชื้น) ร่วมกับพืชตรึงทราย เพื่อให้ควบคุมการเคลื่อนที่ของทรายได้ดียิ่งขึ้น

หวัง หมิง (Wang Ming) เป็นชาวนาในหมู่บ้านผิงหยวนของเขตดาลัด ซึ่งทำการเกษตรหาเลี้ยงชีพ แต่เดิมนั้นเขามีรายได้เพียงปีละไม่กี่พันหยวน แต่งานควบคุมทรายและปลูกป่าที่ฐานพลังงานใหม่นี้ทำให้เขามีแหล่งรายได้เสริม ส่งผลให้หาเงินได้เพิ่มขึ้นปีละเกือบ 10,000 หยวน

ในฤดูใบไม้ผลินี้ เขาใช้เวลาเกือบหนึ่งเดือนในการสนับสนุนโครงการก่อสร้าง โดยดูแลคนงานกว่า 30 คนและเครื่องจักรหลายเครื่อง

หวังกล่าวว่า "ตอนนี้ผมมีงานที่มั่นคงอยู่แค่หน้าบ้าน ผมมีความสุขมากครับ"

เขายังเล่าอีกว่า โครงการนี้จะติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 8 ล้านกิโลวัตต์ ซึ่งสำหรับเขาแล้ว งานควบคุมทรายและปลูกต้นไม้ให้โอกาสการจ้างงานที่มั่นคง

เมืองออร์ดอสที่มีทุ่งดอกทานตะวันกว้างใหญ่นั้น แต่เดิมเคยประสบปัญหาในการจัดการฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยว โดยบริษัท Inner Mongolia Three Gorges Mengneng Energy Co., Ltd. ผู้พัฒนาโครงการฐานพลังงานใหม่ตอนกลาง-เหนือ ณ ทะเลทรายคูปู้ฉีในเมืองออร์ดอสนั้น ได้เปลี่ยนความท้าทายนี้ให้เป็นโอกาส โดยนำฟางมาใช้สร้างแนวกั้นทราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย

ในแต่ละปี บริษัทฯ จะซื้อฟางทานตะวันจำนวนมากจากเกษตรกรในท้องถิ่น เพื่อนำมาใช้ในการต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย โดยวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ยังทำให้ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่มีแหล่งรายได้เสริมอีกด้วย

หลิว เทียนหยุน (Liu Tianyun) รองผู้อำนวยการสำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าของเมืองออร์ดอส กล่าวว่า ภายในปี 2573 โครงการ "กำแพงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยักษ์" นี้ จะสร้างงานที่มั่นคงถึง 50,000 ตำแหน่ง พร้อมเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวกว่า 20,000 หยวนต่อปี และเพิ่มมูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศรวมทั้งปีถึง 1 พันล้านหยวน

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของสำนักข่าวซินหัวสาขามองโกเลียใน

พื้นที่โฆษณา
ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้จัดทำโดย Dataxet Infoquest Admin ซึ่งเป็นสมาชิกเว็บไซต์ของเรา ความคิดเห็นของผู้เขียนและเนื้อหาที่แบ่งปันในหน้านี้ถือเป็นความคิดเห็นของตนเอง และอาจไม่จำเป็นต้องแสดงถึงมุมมองของ ไทย พีอาร์ นิวส์ หากบทความนี้มีความไม่เหมาะสม โปรดใช้วิจารญาณในการรับชม เนื่องจากทางเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
พื้นที่โฆษณา