พื้นที่โฆษณา

ข่าวการเมือง - กระแสโซเชียล อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร นายกฯ คนที่ 31 วิเคราะห์เสียงสะท้อนจากชาวเน็ต

ข่าวประชาสัมพันธ์

Press Release

ชอบหน้านี้?
Dataxet Infoque... 21 ส.ค. 67 31.1K

ฟังข่าวนี้

พื้นที่โฆษณา

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ "อุ๊งอิ๊ง" เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ทำให้เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นสตรีคนที่สองที่ดำรงตำแหน่งนี้ และเป็นบุคคลที่สามในตระกูลชินวัตรที่ได้นั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศไทย ส่งผลให้เกิดกระแสการพูดคุยและถกเถียงอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย

บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Listening) ในช่วงวันที่ 15 - 18 สิงหาคม 2567 ถึงประเด็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย” พบว่าชาวโซเชียลต่างแสดงความคิดเห็น สะท้อนทั้งความคาดหวังและข้อกังวลต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในแง่มุมที่หลากหลาย ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางความคิดและทัศนคติทางการเมืองในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน

วิเคราะห์ความรู้สึกของชาวโซเชียลต่อนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 (Sentiment Analysis)

ประเด็นที่ชาวโซเชียลพูดถึงนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 (Comment Topics)

เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาของความคิดเห็น (Comments) ที่ปรากฎในโซเชียลมีเดีย สามารถสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนายกฯ แพทองธาร ได้ดังต่อไปนี้

1. สานต่อนโยบายของพรรคเพื่อไทย (41.3%)

  • ดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet)

นโยบายแจกเงินดิจิทัล หรือ นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในโซเชียลมีเดีย ประชาชนส่วนใหญ่แสดงความกังวลว่านโยบายนี้อาจจะไม่ได้รับการดำเนินการต่อ ส่งผลให้มีทัศนคติเชิงลบต่อพรรคเพื่อไทย และนายกฯ แพทองธาร สูงถึง 74.7% ของการกล่าวถึงนโยบาย Digital Wallet

อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนที่ยังคงมีความหวังว่านายกฯ แพทองธารจะสามารถดำเนินนโยบายนี้ต่อไปได้ เนื่องจากมีข้อมูลว่างบประมาณบางส่วนได้รับการอนุมัติแล้ว

  • นโยบายลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน

หนึ่งในนโยบายหาเสียงสำคัญในการเลือกตั้งที่ผ่านมา คือการลดหย่อนค่าสาธารณูปโภค เช่น การลดค่า Ft และค่าน้ำมัน ซึ่งสัญญาว่าจะดำเนินการได้ทันทีหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ปัจจุบัน ความคิดเห็นส่วนใหญ่บนโซเชียลมีเดียอยู่ในสถานะ 'รอดู' โดยยังไม่ตัดสินว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะสามารถดำเนินการตามนโยบายนี้ได้หรือไม่ ส่งผลให้ทัศนคติส่วนใหญ่เป็นกลาง คิดเป็น 85% ของการกล่าวถึงนโยบายด้านการช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภค

  • ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)

ก่อนการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร รับบทบาทประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ส่งผลให้ประชาชนในโซเชียลมีเดียมีความคาดหวังเชิงบวกต่อการผลักดันนโยบายด้านซอฟต์พาวเวอร์ของเธอ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น การผลักดันการศึกษา การส่งเสริมการท่องเที่ยว การยกระดับการผลิตสินค้า เป็นต้น

  • การแก้ไขปัญหายาเสพติด

ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสังคมไทย สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือการขาดความเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ นโยบายด้านสาธารณสุขที่นำกัญชาและกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดได้สร้างความท้าทายในการจัดการกับปัญหานี้ ภายหลังจากที่ น.ส.แพทองธารได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประชาชนในโซเชียลมีเดียต่างแสดงความคาดหวังอย่างสูงต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด ความคาดหวังนี้มีรากฐานมาจากความสำเร็จในอดีตของรัฐบาลภายใต้การนำของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ซึ่งสามารถจัดการกับปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ยกระดับฐานรายได้

ในช่วงหาเสียง พรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายเพื่อดึงดูดความสนใจจากประชาชน โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท เมื่อมีการประกาศแต่งตั้ง น.ส.แพทองธาร ลูกสาวของอดีตนายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ประชาชนในโซเชียลมีเดียจึงให้ความสนใจนโยบายนี้ โดยหวังว่าเธอจะสามารถทำให้เศรษฐกิจดีเช่นเดียวกับบิดาของเธอที่ทำได้ในอดีต

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบางส่วน (5% ของการกล่าวถึงนโยบายการเพิ่มรายได้) ที่แสดงความไม่เชื่อมั่นว่านายกฯ แพทองธาร จะสามารถทำให้นโยบายด้านรายได้ประสบความสำเร็จได้ นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากคือการอ้างอิงคำกล่าวของ น.ส.แพทองธารในช่วงหาเสียง “มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไปพร้อม ๆ กัน”

2. ความน่าเชื่อถือและความเหมาะสม (35.2%)

  • การไม่รักษาคำพูด

หลังจากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สลับขั้วไปจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มขั้วอำนาจเดิมในฝั่งอนุรักษ์นิยม และทำให้พรรคก้าวไกลต้องไปเป็นฝ่ายค้าน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย รวมถึงการผิดคำมั่นที่พูดไว้เรื่อง “ปิดสวิตช์ 3 ป” ตอนหาเสียงเลือกตั้ง เหตุการณ์เหล่านี้นำไปสู่ความไม่พอใจของชาวโซเชียลบางกลุ่มจนเกิดวลี “เพื่อไทยหักหลังประชาชน” รวมถึงมีการแสดงความคิดเห็นโดยใช้อิโมจิรูปสตรอว์เบอร์รี่เป็นสัญลักษณ์ สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นที่มีต่อพรรคเพื่อไทย และนายกฯ แพทองธาร ในฐานะผู้นำพรรค

  • คุณวุฒิและวัยวุฒิ

ประเด็นความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องอายุและประสบการณ์ทางการเมือง ประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ได้แก่ อายุน้อยเมื่อเทียบกับนายกรัฐมนตรีคนก่อน ๆ และขาดผลงานทางการเมืองที่เป็นที่ประจักษ์

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวอ้างถึงคำพูดของนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่เคยกล่าวเมื่อครั้งที่มีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า “ไม่ต้องการได้สามเณรเป็นเจ้าอาวาส” ในครั้งนี้จึงมีการเปรียบเปรยกันในบางส่วนของสังคมออนไลน์ว่า "ได้แม่ชีเป็นเจ้าอาวาส" โดยต้องการสื่อถึง น.ส.แพทองธาร อย่างไม่เป็นทางการ

  • สืบทอดอำนาจครอบครัวชินวัตร

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แสดงข้อสงสัยเกี่ยวกับการได้มาซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร โดยมีประเด็นหลักดังนี้

  • พรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่ง
  • ความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการทางการเมืองไทย: สถานการณ์นี้ถูกมองว่าสะท้อนปัญหาในระบบการเมืองของไทยที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน
  • อิทธิพลของตระกูลชินวัตร: มีการตั้งคำถามว่าการได้รับตำแหน่งนี้อาจเป็นผลมาจากอิทธิพลของครอบครัว และมีการตั้งข้อสังเกตว่าน.ส.แพทองธาร อาจเป็นเพียงตัวแทนในการบริหารประเทศแทนอดีตนายกฯ ทักษิณ

ข้อสงสัยเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความกังวลของประชาชนต่อความโปร่งใสและความเป็นอิสระในการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีคนใหม่

  • ตัวแทนคนรุ่นใหม่

ชาวโซเชียลบางส่วนแสดงความยินดีและพร้อมสนับสนุนนายกฯ แพทองธาร โดยมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารประเทศได้ดี จึงอยากให้โอกาสและรอดูผลงานก่อนแล้วค่อยตัดสินทีหลัง โดยสิ่งที่ชาวโซเชียลกำลังจับตาพิจารณาในช่วงนี้คือการแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ที่สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจว่าจะใช้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมบริหาร หรือเป็นกลุ่มนักการเมืองรุ่นเก่าที่เคยทำงานกับนายทักษิณมาก่อน

3. เสถียรภาพทางการเมือง (17.6%)

เหตุการณ์ที่ผ่านมาได้สร้างความกังวลให้กับประชาชนในโซเชียลมีเดีย โดยมีประเด็นหลักดังนี้

  1. ความเปราะบางของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง หลังจากดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 ปี
  2. ความกังวลว่านายกฯ แพทองธารอาจเผชิญชะตากรรมเดียวกัน
  3. ความกังวลเกี่ยวกับการบริหารประเทศของนายกฯ แพทองธาร ภายใต้อิทธิพลของนายทักษิณ
  4. ประเด็นการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงในการถูกตัดสิทธิทางการเมือง เช่นเดียวกับกรณีการถือหุ้นสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ประเด็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจของประชาชนต่อเสถียรภาพทางการเมืองในปัจจุบัน

4. เฝ้ารอการฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจ (5.9%)

แม้ว่าประเด็นหลักซึ่งมีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันในหลากหลายแง่มุมจะเกี่ยวข้องกับความนิยมของตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทย รวมถึงการแบ่งแยกแนวคิดทางการเมืองระหว่างอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม แต่ก็ยังคงมีการพูดถึงประเด็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจดังนี้

  • ประเด็นปากท้อง: บางส่วนให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลัก
  • ความสงบของบ้านเมือง: มีการแสดงความคิดเห็นที่เน้นความสำคัญของเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม

Insight ที่น่าสนใจจาก Reaction ของผู้คนบนเฟซบุ๊ก

การวิเคราะห์การแสดงอารมณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับนายกฯ แพทองธารผ่าน Reaction บนเฟซบุ๊ก พบประเด็นที่น่าสนใจ คือโดยปกติผู้ใช้เฟซบุ๊กมักจะกดไลค์ (Like) เพราะกดง่าย แตกต่างจาก Reaction อื่นที่ต้องเลื่อนเพื่อจะเลือก แต่จากการศึกษาโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับนายกฯ แพทองธารซึ่งมี Engagement สูงกว่า 10,000 ครั้ง กลับพบว่ามีการกดปุ่ม "หัวเราะ" เฉลี่ยสูงถึง 29% ของ Reaction ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงอย่างมีนัยยะสำคัญ

การตีความ Reaction “หัวเราะ”:

  • ไม่ได้สะท้อนถึงความขบขันจากเนื้อหาโพสต์โดยตรง
  • อาจบ่งชี้ถึงทัศนคติเชิงลบต่อนายกรัฐมนตรีและระบบการเมือง
  • อาจเป็นการแสดงความไม่เชื่อมั่นหรือการเยาะเย้ย

นัยยะทางสังคม: การใช้ Reaction “หัวเราะ” บนโซเชียลมีเดียอาจเป็นวิธีที่ผู้คนใช้เพื่อแสดงความรู้สึกอย่างปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับในบริบทของสื่อสังคมออนไลน์ ประเด็นนี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงวิธีที่คนไทยในยุคดิจิทัลเลือกแสดงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองผ่านฟีเจอร์ที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

ท้ายที่สุดแล้ว เสียงสะท้อนของประชาชนผ่านโซเชียลมีเดียได้เผยให้เห็นภาพอันซับซ้อนของความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์การเมืองไทย แม้จะมีความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อวงจรปัญหาทางการเมืองที่ดูเหมือนไร้ทางออก แต่ยังคงมีประกายแห่งความหวังต่อการเปลี่ยนแปลง ประชาชนยังคงตั้งความหวังไว้กับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปฏิรูประบบการเมือง และยกระดับการบริหารประเทศ ความรู้สึกที่ผสมผสานระหว่างความท้อแท้และความคาดหวังนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันต้องเผชิญ ในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นและนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ประชาชนต้องการ

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมข้อมูลจาก DXT360 (Social Listening and Media Monitoring Platform) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 15-18 สิงหาคม 2567

เกี่ยวกับ DXT360

DXT360 เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารได้ทั้งจากโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ สื่อบรอดคาสท์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของผู้บริโภค (Consumer Voices) คอนเทนต์จาก Influencers และ KOLs ไปจนถึงข่าวจากสื่อมวลชน ที่รวบรวมเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน มีการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบ Dashboard ที่สามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้ใช้งานแต่ละราย (Customizable Dashboard) จึงทำให้เข้าใจและเห็น Insight ในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยให้เห็นทิศทางการสื่อสารของแบรนด์ต่าง ๆ สามารถนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด

พื้นที่โฆษณา
ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้จัดทำโดย Dataxet Infoquest Admin ซึ่งเป็นสมาชิกเว็บไซต์ของเรา ความคิดเห็นของผู้เขียนและเนื้อหาที่แบ่งปันในหน้านี้ถือเป็นความคิดเห็นของตนเอง และอาจไม่จำเป็นต้องแสดงถึงมุมมองของ ไทย พีอาร์ นิวส์ หากบทความนี้มีความไม่เหมาะสม โปรดใช้วิจารญาณในการรับชม เนื่องจากทางเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
พื้นที่โฆษณา