ข่าวสัมมนา - BCG เคลื่อนโอกาสใหม่ เอสเอ็มอี เกาะเทรนด์โลก ดันธุรกิจโตยั่งยืน
ข่าวประชาสัมพันธ์
Press Release
ฟังข่าวนี้
การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development -SD) แม้จะเป็นเป้าหมายที่ดีงาม แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดหลายองค์กรกลับไม่สามารถอธิบายรูปธรรมได้ชัดเจน ที่สำคัญยังไม่ตกผลึกว่า ลงทุนไปแล้วจะส่งผลดีกับธุรกิจอย่างไร
การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ยังไม่เดินหน้าเท่าที่ควร
ดร.สุนทร คุณชัยมัง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการบรรยายหัวข้อ BCG and new opportunities for SMEs ภายในงาน LFC Networking ของมูลนิธิสัมมาชีพเมื่อเร็วๆ นี้ โดยฉายผลลัพธ์การพัฒนาธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนว่า ที่สุดแล้ว จะทำให้ธุรกิจเกิด “ความสามารถในการแข่งขัน” เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่ไม่ได้ใส่ใจในเรื่อง “ESG” และ “BCG” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างผลิตภาพ (Productivity) ให้กับธุรกิจทั้งสิ้น
โดยเฉพาะ BCG ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เป็นเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio- Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งธุรกิจไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ หากไม่เดินตามแนวทางนี้ ก็ยากจะเกิดความสามารถในการแข่งขัน เพราะจะถูกบีบด้วยกติกาการค้าโลกที่ให้ภาคธุรกิจต้องใส่ใจเรื่องการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกซึ่งบอบช้ำจากวิกฤติสิ่งแวดล้อม ทั้งภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นถี่และรุนแรง รวมถึงวิกฤติโรคระบาด เป็นต้น
“ถ้าเราคิดว่า BCG เป็นเรื่องของการสร้างโอกาสใหม่ให้กับเอสเอ็มอี เราจะต้องปักหลักความเชื่อก่อนว่า BCG เป็นส่วนประกอบของกระบวนการสร้างผลิตภาพ อย่ามองว่าเป็นเรื่องวิชาการ แต่ต้องมองเป็น “กลยุทธ์องค์กร” เป็นไก๊ด์ไลน์ที่จะนำไปสู่การจัดการธุรกิจให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน” ดร.สุนทรย้ำ และว่า
ถ้าเอสเอ็มอีสามารถเริ่มต้น BCG ได้แล้ว การที่จะอธิบายตัวเองว่าดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนจะง่ายขึ้น เพราะติดกระดุมเม็ดแรกถูกที่ถูกทาง..!
เพื่อให้เห็นภาพการดำเนินการตามแนวทาง BCG ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น “ดร.สุนทร” ได้หยิบยก 3 ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีเดินตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG จนประสบความสำเร็จ
บริษัทแรกคือ บริษัท Winona Feminine ดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ นำทรัพยากรชีวภาพมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ โดยนำหญ้ารีแพร์ มาวิจัยและพัฒนาผ่านกระบวนการสังคมบนฐานความรู้ร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เจลดูแลช่องคลอด ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังเหมาะสมกับดีเอ็นเอของผู้หญิงไทยและเอเชีย สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนสามารถสร้างรายได้กว่า 20 ล้านบาท
บริษัทถัดมาคือ บริษัท Care Choice เป็นตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ด้วยการนำของเสีย ของเหลือใช้ (Waste) ในกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ โดยบริษัทแห่งนี้นำเศษผักที่ไม่ได้ขนาดตามความต้องการของตลาด มาแปรรูปเป็น “ผงปรุงแต่ง” ที่มีสารอาหารจากผัก เจาะตลาดผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่ต้องการสารอาหารเพิ่มเติม เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน สะท้อนถึงความกล้าคิด กล้าทำ กล้าทดลอง โดยมียอดขายกว่า 16 ล้านบาท
บริษัทสุดท้าย คือ Happy Grocer เป็นตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง “เศรษฐกิจสีเขียว” ด้วยการแปลงวิกฤติช่วงโควิดเป็นโอกาส ไม่เพียงพัฒนารูปแบบการขายผักในช่องทางออนไลน์เท่านั้น แต่ยังขายผักปลอดภัยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค สะท้อนถึงการนำกระแสผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมาใช้เป็นโอกาสทางธุรกิจ มีรายได้กว่า 10 ล้านบาท
“จากตัวอย่างธุรกิจทั้ง 3 บริษัท ทำให้เห็นภาพการดำเนินการตามแนวทาง BCG ได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้สามารถนำมาถอดบทเรียนมาปรับใช้กับธุรกิจของเอสเอ็มอี ก็จะเกิดประโยชน์ในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างการเติบโตของรายได้ ตามเทรนด์โลก” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว
ทั้งหมดนี้คือความสำคัญของการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG เทรนด์โลกที่เอสเอ็มอีต้องเกาะกระแสให้ทัน และทำให้เกิดเป็นรูปธรรม (BCG In Action) เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจเติบโตคู่สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม อย่างมีสัมมาชีพ
แสดงความคิดเห็น