ข่าวราชการ, รัฐวิสาหกิจ - จับกัง 1 สั่ง กสร.และ สปส. สอบเหตุสะพานข้ามแยกถล่ม พร้อมเร่งดูแลสิทธิลูกจ้างเสียชีวิตและบาดเจ็บ
ข่าวประชาสัมพันธ์
Press Release
ฟังข่าวนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส่งหัวหน้าผู้ตรวจ กรง. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบหลังเกิดเหตุคานสะพานข้ามแยกถล่มขณะกำลังก่อสร้างพร้อมดูแลสิทธิประโยชน์ลูกจ้างเต็มที่
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังทราบเหตุคานสะพานข้ามแยกถล่มในพื้นที่ลาดกระบังจนทำให้มีลูกจ้างเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ ว่า ผมขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้มีความห่วงใย และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้มอบหมายให้ นางโสภา เกียรตินิรชา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสมพจน์ กวางแก้ว รองอธิบดี กสร. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 10 (สรพ.10) และ ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 12 (ศปข.12) พบว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 13 ราย และเสียชีวิตจำนวน 2 ราย เบื้องต้นผมได้สั่งการให้เร่งดำเนินการให้ลูกจ้างผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติของผู้เสียชีวิต ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และตรวจสอบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
นางโสภา เกียรตินิรชา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตนได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่บาดเจ็บและเสียชีวิต ทราบว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลาดกระบัง จำนวน 8 ราย โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำนวน 5 ราย และผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย เป็นลูกจ้างผู้รับเหมาช่วง โดย สรพ.10 และศปข.12 จะเชิญนายจ้างและผู้เกี่ยวข้องมาพบในวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เพื่อตรวจสอบว่านายจ้างได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น หม้อน้ำ พ.ศ. 2564 หรือไม่ หากพบว่านายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป จากนั้นยังได้เดินทางไปเยี่ยมลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ ณ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้บาดเจ็บ
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะเร่งดำเนินการให้ลูกจ้างที่บาดเจ็บได้รับสิทธิประโยชน์เรื่องการรักษาพยาบาล สิทธิประโยชน์ทดแทนจากสำนักงานประกันสังคม พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวลูกจ้างที่เสียชีวิตให้ได้รับสิทธิประโยชน์พึงได้ตามกฎหมายต่อไป
แสดงความคิดเห็น