พื้นที่โฆษณา

ข่าวเศรษฐกิจ, การเงิน - เอ็มเอเอส โฮลดิงส์ ลงทุนในทางเลือกใหม่ ใช้แทนเส้นใยสังเคราะห์

ข่าวประชาสัมพันธ์

Press Release

ชอบหน้านี้?
iqmedia... 7 ก.ค. 66 9.9K

ฟังข่าวนี้

พื้นที่โฆษณา

เอ็มเอเอส โฮลดิงส์ (MAS Holdings)กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีและการผลิตเครื่องแต่งกายและสิ่งทอระดับโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในศรีลังกาและทำธุรกิจใน 16 ประเทศ เข้าถือหุ้นในไฮคิว อิออนิค (HeiQ AeoniQ(TM)) โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มแพลน ฟอร์ เชนจ์ (Plan for Change) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเส้นใยยาว (filament fiber) เซลลูโลสแบบใหม่ เพื่อทดแทนโพลีเอสเตอร์และไนลอน

ไฮคิว (HeiQ)จากสวิตเซอร์แลนด์ เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมวัสดุ ส่วนเอ็มเอเอส โฮลดิงส์เป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีและการผลิตเครื่องแต่งกายและสิ่งทอระดับโลกที่มีสำนักงานใหญ่ในศรีลังกา และเป็นผู้ผลิตเครื่องแต่งกายและสิ่งทอรายใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้ด้วยมูลค่าการซื้อขายประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันให้เอ็มเอเอสเข้ามาถือหุ้นในไฮคิว อิออนิค จีเอ็มบีเอช (HeiQ AeoniQ GmbH)ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไฮคิว กรุ๊ป (HeiQ Group) ซึ่งจะผลิตเส้นใยเซลลูโลสที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศอย่างไฮคิว อิออนิค

การลงทุนครั้งนี้ทำให้เอ็มเอเอส โฮลดิงส์ กลายเป็นผู้ผลิตรายแรกที่ร่วมมือกับไฮคิว อิออนิค เพื่อสำรวจหาทางเลือกที่ยั่งยืนแทนการใช้โพลีเอสเตอร์และไนลอน การลงทุนที่ดำเนินการโดยเอ็มเอเอส โฮลดิงส์ เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ของกลุ่มบริษัท เพื่อผลักดันผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม โดยเอ็มเอเอส แพลน ฟอร์ เชนจ์ ตั้งเป้าให้รายได้ 50% ของบริษัทมาจากผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนภายในปี 2568 ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยมุ่งคิดค้นนวัตกรรม จัดหาอย่างยั่งยืน และบุกเบิกหมุนเวียนในวงกว้าง

ไฮคิวและเอ็มเอเอสได้ตกลงทำสัญญารับซื้อผลิตภัณฑ์ (Offtake Agreement) ระยะเวลา 5 ปี เพื่อซื้อเส้นด้ายไฮคิว อิออนิค จำนวน 3,000 ตันในปี 2568 และปีละ 5,000 ตันตั้งแต่ปี 2569 ถึงปี 2572 โดยไฮคิวประเมินไว้ว่ามีมูลค่ารวม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เอ็มเอเอสจะสรุปข้อผูกพันนี้ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดหลังจากบรรลุขั้นที่ 1 และวางแผนร่วมกันในเรื่องการค้า ไฮคิวและเอ็มเอเอสเชื่อมั่นว่า การปรับขนาดอย่างรวดเร็วเป็นกุญแจสำคัญในการนำเทคโนโลยีหมุนเวียนที่ยั่งยืน เช่น ไฮคิว อิออนิค มาใช้ให้แพร่หลายเร็วขึ้น

ไฮคิว อิออนิค ตัวพลิกวงการสิ่งทอ

ไฮคิวได้เปิดตัวเทคโนโลยีไฮคิว อิออนิค ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เล่นรายใหญ่ ๆ ระดับโลกในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้ามาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564

เทคโนโลยีดังกล่าวใช้วิธีการผลิตที่เป็นกรรมสิทธิ์ ทำให้ผลิตเส้นใยยาวจากวัตถุดิบตั้งต้นประเภทต่าง ๆ ได้เป็นครั้งแรก ทั้งยังให้คุณสมบัติด้านประสิทธิภาพที่เทียบเท่ากับโพลีเอสเตอร์หรือไนลอนได้ แต่ยั่งยืนและหมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด

โรงงานนำร่องไฮคิว อิออนิค ในออสเตรีย ได้ผลิตเส้นใยยาวเซลลูโลสที่ปฏิวัติวงการนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 โดยมีกำลังการผลิตสูงสุด 100 ตัน และจะเพิ่มขนาดเป็น 300 ตันภายในสิ้นปี 2566

การขยายขนาดการผลิตไฮคิว อิออนิค มีแผนที่จะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ภายในต้นปี 2569 โดยเตรียมสร้างโรงงานขนาดใหญ่แห่งใหม่ที่ให้ผลผลิตได้ 30,000 ตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนประมาณ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คาร์โล เชนตอนเซ (Carlo Centonze) ซีอีโอกลุ่มบริษัทไฮคิวกล่าวว่า "นับตั้งแต่ที่เริ่มต้น ไฮคิวได้บุกเบิกนวัตกรรมสิ่งทอ โดยปฏิวัติการทำงานอย่างยั่งยืน และยกระดับชีวิตผู้คนนับพันล้าน ปัจจุบัน เราได้เปิดตัวไฮคิว อิออนิค เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของเราในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ได้ชื่อว่าก่อมลพิษมากเป็นอันดับสองของโลกมาอย่างยาวนาน การลงทุนและสัญญารับซื้อผลิตภัณฑ์ของเอ็มเอเอสเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ผู้เล่นในห่วงโซ่คุณค่าในภาคสิ่งทอต่างยอมรับว่า ไฮคิว อิออนิค เป็นผู้เปลี่ยนเกมขั้นสูงสุด โดยวางใจในพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ทั้งยังเป็นผลจากความเชื่อมั่นที่สั่งสมมานานกว่าทศวรรษตลอดระยะเวลาที่ไฮคิวและเอ็มเอเอสได้ทำธุรกิจร่วมกัน"

ซูเรน เฟอร์นานโด (Suren Fernando) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทเอ็มเอเอส โฮลดิงส์กล่าวเสริมว่า "เอ็มเอเอสสร้างขึ้นจากความเชื่อในการทำสิ่งที่ถูกต้อง เราเป็นองค์กรระดับโลกที่เลี้ยงดูบุคลากรมากกว่า 100,000 คน เราเชื่อมั่นในความรับผิดชอบของเรา ในการใช้โซลูชันผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกภายในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย เราเชื่อว่าการลงทุนครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในความพยายามของเรา เพื่อปรับโฉมอุตสาหกรรมของเราด้วยการขับเคลื่อนนวัตกรรม การทำงานร่วมกัน และขนาด และเมื่อมีไฮคิว อิออนิค เป็นตัวกระตุ้นหลักแล้ว เราพร้อมที่จะปูทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น"

โพลีเอสเตอร์และไนลอนเป็นเส้นใยที่ผลิตจากน้ำมัน ซึ่งรีไซเคิลแทบจะไม่ได้ โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของการผลิตสิ่งทอทั่วโลก เส้นใยเหล่านี้ใช้เวลา 350 ถึง 1,000 ปีกว่าจะย่อยสลายตามธรรมชาติ ปัจจุบันมีการนำไปรีไซเคิลแบบวงปิด (Close-Loop) ไม่ถึง 1% และเป็นต้นกำเนิดของไมโครพลาสติกราว 35% ที่พบได้ในมหาสมุทร ซึ่งไฮคิว อิออนิค ได้รับการคิดค้นและกำลังขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเปลี่ยนแนวโน้มนี้

เกี่ยวกับไฮคิว

ไฮคิว (HeiQ) ก่อตั้งขึ้นจากการแยกตัวออกจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริก (Swiss Federal Institute of Technology Zurich หรือ ETH) เมื่อปี 2548 และจดทะเบียนในกระดานหลักของตลาดหุ้นลอนดอน (XLON:HEIQ) ไฮคิวเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมสิ่งทอและวัสดุ ผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ทนทาน และสมรรถนะสูงที่สุดในตลาดทุกวันนี้ ไฮคิวมุ่งยกระดับชีวิตของผู้คนหลายพันล้านผ่านการบุกเบิกนวัตกรรมสิ่งทอและวัสดุ ไฮคิวผสมผสานความเชี่ยวชาญใน 3 ด้าน ได้แก่ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การผลิตวัสดุพิเศษ และการสร้างแบรนด์สำหรับผู้บริโภค จนกลายเป็นพันธมิตรที่สมบูรณ์แบบในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและยั่งยืนเพื่อเพิ่มมูลค่า ณ จุดขาย ปัจจุบัน บริษัทมีสำนักงาน 14 แห่ง ฐานการผลิต 7 แห่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนา 7 แห่ง และพนักงานมืออาชีพกว่า 200คน บริษัทมีกำลังการผลิตสารเคมีชนิดพิเศษรวม 45,000 ตันต่อปี และให้บริการลูกค้าอุตสาหกรรมกว่า 1,000 ราย ในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบัน เทคโนโลยีของไฮคิวมีวางจำหน่ายในกว่า 60ประเทศ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.heiq.com

เกี่ยวกับเอ็มเอเอส โฮลดิงส์

เอ็มเอเอส โฮลดิงส์ (MAS Holdings) บริษัทเทคโนโลยีเครื่องแต่งกายที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้ และเป็นผู้ให้บริการโซลูชันการออกแบบจนถึงจัดส่งที่ได้รับการยอมรับมากเป็นอันดับต้น ๆ ในแวดวงการผลิตเครื่องแต่งกายและสิ่งทอ ปัจจุบัน เอ็มเอเอสมีบุคลากรกว่า 110,000 คน ครอบคลุมโรงงานผลิตใน 16 ประเทศ โดยมีสถานที่ออกแบบที่จัดตั้งขึ้นในแหล่งรวมสไตล์แห่งสำคัญทั่วโลก เอ็มเอเอสตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีพลวัตและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยมีพอร์ตโฟลิโอที่ขยายตัวอย่างทวีคูณ สู่แบรนด์ เทคโนโลยีสวมใส่ เทคโนโลยีเพื่อผู้หญิง (FemTech) สตาร์ตอัป และนิคมผลิตสิ่งทอทั่วโลก

เอ็มเอเอสดำเนินงานมากว่า 35 ปี จนได้รับการยอมรับมาแล้วทั่วโลก ในด้านสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีจริยธรรมและยั่งยืน ตลอดจนความพยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยขององค์กรในการพัฒนาสังคมและการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง ปัจจุบัน ความพยายามของบริษัทในการขับเคลื่อนผลกระทบเชิงบวกนั้น ปรากฏให้เห็นในโครงการเอ็มเอเอส แพลน ฟอร์ เชนจ์ (MAS Plan for Change) ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนใน 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ชีวิต และโลกของเรา ทั้งนี้ เอ็มเอเอสหวังใช้ความคิดริเริ่มเหล่านี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานทุกคนเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลง สานฝันและสร้างคุณค่าให้กับสิ่งทอแห่งชีวิตบนโลกของเรา

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่www.masholdings.com

เกี่ยวกับไฮคิว อิออนิค

ไฮคิว อิออนิค (HeiQ AeoniQ(TM)) เป็นผลงานที่ไฮคิว (HeiQ) ริเริ่มขึ้นเพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยไฮคิวในฐานะผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมสิ่งทอ มุ่งคิดค้นเส้นด้ายยาวเซลลูโลสแบบต่อเนื่องที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศเป็นครั้งแรกของโลกผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นกรรมสิทธิ์ มาพร้อมคุณสมบัติเดียวกับที่พบในเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์และไนลอนเป็นครั้งแรกในรูปแบบเส้นใยเซลลูโลสที่ทนทาน ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และนำไปรีไซเคิลได้อย่างไร้ขีดจำกัด ไฮคิวได้ก่อตั้งไฮคิว อิออนิค ขึ้นเป็นบริษัทแยกออกมา เปิดโอกาสให้พันธมิตรทางธุรกิจเข้าร่วมได้ตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนา และเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่บุกเบิกความคิดริเริ่มนี้ เพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ไฮคิวหวังที่จะทำให้ไฮคิว อิออนิค ผลิตได้จริง จึงได้จับมือเป็นพันธมิตรกับฮิวโก้ บอส (HUGO BOSS) เพื่อบุกเบิกเปลี่ยนไฮคิว อิออนิค ให้กลายเป็นเสื้อผ้า พร้อมกันนี้ยังได้ดึงเดอะ ไลคร่า คอมพานี (The LYCRA Company) เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการริเริ่มนี้ในฐานะผู้จัดจำหน่ายทั่วโลก ส่วนเอ็มเอเอส โฮลดิงส์ (MAS Holdings) ได้กลายเป็นหุ้นส่วนใหม่ล่าสุดของโครงการนี้

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่https://www.heiq-aeoniq.com/

รูปภาพ-https://mma.prnewswire.com/media/2146222/MAS_Holdings_and_HeiQ.jpg
โลโก้ -https://mma.prnewswire.com/media/2146221/MAS_Logo.jpg
โลโก้ -https://mma.prnewswire.com/media/2146223/HeiQ_Logo.jpg

พื้นที่โฆษณา
ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้จัดทำโดย iqmedia ซึ่งเป็นสมาชิกเว็บไซต์ของเรา ความคิดเห็นของผู้เขียนและเนื้อหาที่แบ่งปันในหน้านี้ถือเป็นความคิดเห็นของตนเอง และอาจไม่จำเป็นต้องแสดงถึงมุมมองของ ไทย พีอาร์ นิวส์ หากบทความนี้มีความไม่เหมาะสม โปรดใช้วิจารญาณในการรับชม เนื่องจากทางเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
พื้นที่โฆษณา