ข่าวการเกษตร - มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และสถาบันเดอะนัดจ์ เผยรายงานผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเกษตรกรรายย่อยในอินเดีย ปูทางสู่การแก้ปัญหาอย่างแข็งแกร่ง
ข่าวประชาสัมพันธ์
Press Release
ฟังข่าวนี้
เกษตรกรรายย่อยราว 70% สูญเสียผลผลิตถึง 50% ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Foundation) และสถาบันเดอะนัดจ์ (The/Nudge Institute) เผยผลการค้นพบล่าสุดในรายงาน "เกษตรกรรายย่อยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ - เสียงจากท้องทุ่ง" (Smallholder Farmers and Climate Change - Voices from the Field) ซึ่งแสดงรายละเอียดปัญหาสภาพภูมิอากาศที่กำลังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 6 รัฐ คือ มัธยประเทศ มหาราษฏระ กรณาฏกะ หรยาณา เตลังคานา และอานธรประเทศ รวมถึงประเมินโอกาสในการสร้างเครื่องมือสำหรับรับมือสภาพภูมิอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำความเข้าใจแนวทางเกษตรกรรม (การปลูกพืชหมุนเวียน การใช้ประโยชน์จากการพยากรณ์ปริมาณฝน) การเปลี่ยนแปลงการใช้สารเคมี (เช่น ยาฆ่าแมลง) และมุมมองของครอบครัวเกษตรกรในการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การค้นพบสำคัญ ๆ มีดังนี้
ปริมาณน้ำฝนที่แปรปรวน และโรคและศัตรูพืชที่เพิ่มขึ้นคือปัญหาอันดับต้น ๆ ในการเกษตรกรรมสำหรับเกษตรกรรายย่อย
เกษตรกรรายย่อย 74% เผชิญปัญหาโรคและศัตรูพืชที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ 77% ประสบปัญหาวัชพืชเพิ่มขึ้น
การฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและการใช้ปุ๋ยเคมีจึงเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว กล่าวคือ เกษตรกรรายย่อย 76% มีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง และ 54% ใช้ปุ๋ยเคมี
เกษตรกรรายย่อยกว่า 60% ต่างตระหนักและอยู่ระหว่างดำเนินแนวทางต่าง ๆ เช่น การปลูกพืชหมุนเวียนและการใช้ปุ๋ยคอกเพื่อปรับปรุงคุณภาพดิน โดยมีเกษตรกรรายย่อย 3 ใน 5 กำลังแสวงหาและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสภาพอากาศในเชิงรุกเพื่อวางแผนกิจกรรมทางการเกษตร
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เกษตรกรใช้เวลาในการเกษตรกรรมน้อยลง โดยเกษตรกรหญิง 55% ทนปวดหลังไปกับการกำจัดวัชพืชลดลงเพราะหันมาใช้ยากำจัดวัชพืช ขณะที่เกษตรกรชายสามารถใช้รถแทรกเตอร์ลดเวลาทำงานลงได้ ทำให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจกรรมสร้างรายได้อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงโคนมและการทำงานแลกค่าแรง เป็นต้น
รายงานฉบับนี้ใช้ภาษาจากบริบทของคนที่มูลนิธิได้ให้ความช่วยเหลือในประเทศอินเดีย โดยให้คำนิยาม "เกษตรกรรายย่อย" (ที่มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 22 ล้านคน) หมายถึง ผู้ครอบครองพื้นที่ชลประทานขนาด 1-2 เอเคอร์ หรือพื้นที่น้ำฝนขนาด3-7 เอเคอร์ และทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ผู้ที่เพาะปลูกหรือทำงานบนที่ดินดังกล่าว แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ตามคำนิยามแล้วไม่นับเป็น "เกษตรกร" นอกจากนี้ ด้วยลักษณะของท้องถิ่นที่มีความแตกต่าง ในรายงานจึงวิเคราะห์ "คู่สมรส" ที่ทำงานตามเทือกสวนไร่นาในปริมาณมาก แต่ยังไม่นับเป็นเกษตรกรรายย่อยตามกฎหมาย รวมถึงแสดงความแตกต่างระหว่างเกษตรกรเจ้าของที่ดินรายย่อยทั้งชายและหญิงทั่วประเทศ
"เกษตรกรรายย่อยเป็นคนกลุ่มใหญ่ในภูมิทัศน์เกษตรกรรมของประเทศอินเดีย แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการเข้าถึงโอกาสที่จำกัดกำลังคุกคามการดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้" อาซีสห์ คารามจันทนี ( Ashish Karamchandani) ประธานสถาบันเดอะนัดจ์ กล่าว "การสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์จะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถลงมือแก้ไขปัญหาที่กำลังกดดันอยู่นี้ได้ เรากำลังวิจัยหาวิธีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และเพิ่มความพยายามยิ่งขึ้น เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงทรัพยากร องค์ความรู้ และเครื่องมือที่จำเป็นในการพัฒนาต่อไปได้"
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์มีเป้าหมายที่จะรวมข้อมูลจากรายงานฉบับนี้ เพื่อนำไปทดสอบและปรับขนาดของระบบอาหารเพื่อการบำรุงรักษาและฟื้นฟูในประเทศอินเดีย รวมถึงส่งเสริมความพยายามด้านอื่น ๆ ในการจัดเตรียมหลักฐานแสดงต้นทุนที่แท้จริงของระบบอาหารไปพร้อม ๆ กับการยกระดับประสบการณ์ของเกษตรกรรายย่อย ตลอดจนถึงผู้กำหนดนโยบายและผู้นำองค์กรด้านการเกษตรกรรม ธุรกิจ และวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ๆ
"การค้นพบในรายงานฉบับนี้เป็นการเรียกร้องให้มีการสร้างช่องทางใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในประเทศอินเดีย การแสดงปัญหาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่เกษตรกรรายย่อยต้องเผชิญทำให้เราพัฒนาแนวทางแก้ไขและเข้าไปแทรกแซงได้ตรงเป้าหมาย ช่วยให้เกษตรกรกลุ่มนี้ปรับตัวและพัฒนาต่อไปได้" ทิพาลี คันนา ( Deepali Khanna) รองประธานสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชีย มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ กล่าว "การนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้มาประสมรวมเข้ากับแนวคิดริเริ่มของเรา จะทำให้เราทำงานเพื่อมุ่งสร้างระบบอาหารที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืน รองรับการดำรงชีวิตของคนนับล้าน ๆ คนได้"
โดยปกติแล้ว บริษัทในภาคส่วนธุรกิจในระบบและบริษัทเทคโนโลยีการเกษตรมักจะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรขนาดกลางและขนาดใหญ่ แต่ไม่ใช่เกษตรกรรายย่อย รายงานฉบับนี้จึงจะช่วยสร้างต้นแบบ (ระบุการแทรกแซง พัฒนาโมเดลธุรกิจ และทำวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำรายการวิธีแก้ปัญหา) ตลอดจนเผยแพร่ (เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนร่วมต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์แนวทางการแก้ปัญหา รวมถึงขยายพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ผลผลิต และกลุ่มเกษตรกร) และเพิ่มแนวทางการแก้ปัญหา (ให้มีการแทรกแซงเพื่อขยายขนาดได้) ให้กับเกษตรกรรายย่อย
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่
เกี่ยวกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Foundation) เป็นองค์กรการกุศลยุคแรก ๆ ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อช่วยให้คน ครอบครัว และชุมชนมีความเจริญก้าวหน้า เราเดิมพันครั้งใหญ่เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษยชาติ และสร้างโอกาสอันเป็นสากลและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนสำหรับทุกคน กระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ และทำให้การดูแลสุขภาพและอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม สามารถสมัครรับจดหมายข่าวเพื่อติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง www.rockefellerfoundation.org และติดตามเราได้ทางทวิตเตอร์ @RockefellerFdn
เกี่ยวกับสถาบันเดอะนัดจ์
สถาบันเดอะนัดจ์ (The/Nudge Institute) เป็นสถาบันปฏิบัติการเพื่อมุ่งสร้างประเทศอินเดียที่ไร้ความยากจนตลอดช่วงชีวิตของเรา เราร่วมมือกับรัฐบาล ตลาด และประชาสังคมเพื่อสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่แข็งแกร่งสำหรับทุกคน ผ่านศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานและการสร้างผู้ประกอบการ (Centre for Skill Development and Entrepreneurship หรือ CSDE) ศูนย์พัฒนาชนบท (Centre for Rural Development หรือ CRD) และศูนย์นวัตกรรมสังคม (Centre for Social Innovation หรือ CSI) สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเยี่ยมชมได้ที่ https://www.thenudge.org/
แสดงความคิดเห็น