พื้นที่โฆษณา

ข่าวสุขภาพ - สปสช. จับมือ โรช ไดแอกโนสติกส์ นำร่องจัดแคมเปญ “มามะๆ มาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก” ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok รณรงค์หญิงไทยเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ HPV DNA Self-Sampling หวังให้ความรู้ ช่วยกำจัดมะเร็งปากมดลูก

ข่าวประชาสัมพันธ์

Press Release

ชอบหน้านี้?
EHSR... 29 มิ.ย. 66 22.5K

ฟังข่าวนี้

พื้นที่โฆษณา

กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด นำร่องจัดแคมเปญ “มามะๆ มาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก” ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok รณรงค์หญิงไทยเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ HPV DNA Self-Sampling แบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 30 กรกฎาคม 2566 ภายใต้คอนเซ็ปต์ เก็บตัวอย่างเองก็ได้ ไม่อายหมอ ไม่ต้องรอขึ้นขาหยั่ง หวังเป็นสื่อกลางร่วมรณรงค์ให้สตรีไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV) และประชาสัมพันธ์ทางเลือกใหม่ในการตรวจคัดกรองดังกล่าวแบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเองโดยไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง ให้ประชาชนรับรู้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยลดอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย

ทพ.อรรถพรลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าว เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการหาเชื้อ HPV ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% แต่ที่ผ่านมา เราพบว่าสตรีหลายท่านมีความกังวลใจในการตรวจด้วยการขึ้นขาหยั่ง ในปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้บรรจุสิทธิประโยชน์การตรวจ HPV DNA และ HPV DNA Self-Sampling ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่ประชาชนสามารถเลือกรับบริการโดยการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ เข้าไปในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาทด้วย โดยผู้หญิงไทยอายุ 30-59 ปี ขอรับชุดตรวจมะเร็งปากมดลุกด้วยตนเองได้ที่โรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ และเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ขอรับชุดตรวจได้ง่ายขึ้น ขณะนี้ สปสช.ได้นำร่องที่เขตสุขภาพที่ 7 ใน 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยเพิ่ม ร้านยาและคลินิกการพยาบาล จำนวน 119 แห่งให้เป็นจุดที่กลุ่มเป้าหมายขอรับชุดตรวจได้ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง จึงหวังว่ากิจกรรมดังกล่าว จะสามารถช่วยสร้างความตระหนัก รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโรค และความสำคัญของการตรวจคัดกรองฯ แก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้างได้เป็นอย่างดี

“โรคมะเร็งปากมดลูกนับเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย โดยสถิติพบว่า เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 5 ในผู้หญิงไทย และมีอัตราการเสียชีวิตปีละเกือบ 5000 ราย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นมะเร็งที่รักษาให้หายได้หากพบในระยะแรกเริ่ม เนื่องจาก 70% ของโรคเกิดจากการติดเชื้อ HPV (เอชพีวี) สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพื่อหาการติดเชื้อเอชพีวีในระยะแรกเริ่ม เพื่อนำไปสู่การรักษา จึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญเพื่อลดจำนวนหญิงไทยที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก จึงหวังว่าโครงการนี้จะทำให้สตรีรับทราบข้อมูลมากขึ้น เกิดความเข้าใจ และเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ มากขึ้นตามนโยบายของพวกเรา” ทพ.อรรถพร กล่าว

ด้านนายพิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า โรช ไดแอกโนสติกส์ ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาเครื่องมือตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ หรือ Health Literacy ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมการตรวจวินิจฉัย เพื่อตอบโจทย์การตรวจคัดกรอง วินิจฉัย รักษา และป้องกัน ให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ “Doing now what patient needs next” ของบริษัทฯ

“เรามีความยินดีมากที่มีส่วนช่วยผลักดันในเกิดแคมเปญนี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวแห่งความตั้งใจขององค์กร ในการนำองค์ความรู้ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น หลากหลายขึ้น ด้วยภาษาและวิธีการที่ง่ายมากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากจุดเริ่มต้นในวันนี้ จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นได้ ทำให้พวกเราทั้งภาครัฐและเอกชน ก้าวเข้าใกล้สู่เป้าหมายการกำจัดมะเร็งปากมดลูกได้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างสุขภาพสตรี และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป” นายพิเชษฐพงษ์ กล่าว

สำหรับกิจกรรม “มามะๆ มาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก” ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปร่วมสนุกผ่านคลิปการออกแบบท่าเต้น การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA Self-Sampling Test แบบเก็บตัวอย่างตนเองประกอบเพลง มามะๆ กันไว้ดีกว่าแก้ ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ของตนเองความยาวประมาณ 30 วินาที เพื่อรับของรางวัลมากมาย ระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 30 กรกฎาคม 2566 โดยคณะกรรมการจาก สปสช. จะเป็นผู้คัดเลือกผู้ได้รับรางวัลจำนวน 35 รางวัล และประกาศผลผู้ได้รับรางวัลผ่านทางบัญชี TikTok https://www.tiktok.com/@nhso_official?_t=8dUA8I5KxF9&_r=1 และเว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/ ในวันที่ 4 สิงหาคม 2566

###

พื้นที่โฆษณา
ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้จัดทำโดย EHSR ซึ่งเป็นสมาชิกเว็บไซต์ของเรา ความคิดเห็นของผู้เขียนและเนื้อหาที่แบ่งปันในหน้านี้ถือเป็นความคิดเห็นของตนเอง และอาจไม่จำเป็นต้องแสดงถึงมุมมองของ ไทย พีอาร์ นิวส์ หากบทความนี้มีความไม่เหมาะสม โปรดใช้วิจารญาณในการรับชม เนื่องจากทางเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
พื้นที่โฆษณา