ข่าวสัตว์เลี้ยง - TSPCA และองค์กรเครือข่ายจัดสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ ครั้งที่ 11 เรื่อง 8 ปี การบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
ข่าวประชาสัมพันธ์
Press Release
ฟังข่าวนี้
วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ที่โรงแรมแคนทารี 304 ปราจีนบุรี อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) สมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย ล้านนาด็อกเวลแฟร์ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) และ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมองค์กรเครือข่ายอื่นๆ ร่วมกันจัดสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อเรื่อง 8 ปี การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เป็นผลจากการเรียกร้องกันมายาวนาน จนกระทั่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2557 นั้น กว่า 8 ปี ที่พระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับใช้ มีการร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีจำนวนมาก และมีคำพิพากษาอีกหลายคดี ด้วยกระแสการตื่นรู้ของประชาชนที่ให้ความสนใจ ทำให้มีการเสนอข้อมูลข่าวสาร เป็นจำนวนมากหลากหลายมุมมองและมิติ ซึ่งบางมุมมองอาจจะมีข้อมูลบางส่วนที่คลาดเคลื่อน สร้างกระแสความสับสนให้เกิดขึ้นในสังคมได้ โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงาน ในการบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จำเป็นต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนรอบด้าน
ดังนั้น สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และองค์กรเครือข่าย ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงจัดการสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อรวบรวมสรุปประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ จากองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้ปฏิบัติและผู้มีประสบการณ์ตรงจากการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการบังคับใช้กฎหมายและที่สำคัญเพื่อให้เครือข่ายที่เป็นพันธมิตรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้นานาทัศนะและถอดบทเรียนร่วมกัน ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม
บรรยากาศในการสัมมนา เริ่มต้นด้วยการรับชมภาพยนตร์สั้น “ รักไม่ปล่อย ”และ ปล่อยนกบุญหรือบาป? เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการปล่อยสัตว์ ว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ การกล่าวต้อนรับผู้ร่วมสัมมนา โดย คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย การเปิดงานโดย นายสัตวแพทย์ธีระวุฒิ สุวัธนะเชาว์ ที่ปรึกษากรมปศุสัตว์ พร้อมมีการเสวนาเรื่องแนวทางการสร้างจิตสำนึกรักสัตว์อย่างรับผิดชอบโดย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ที่ปรึกษาอาวุโส IUCN คุณอมร ชุมศรี ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ดำเนินการโดย คุณพรอัปสร นิลจินดา อดีตผู้อำนวยการส่วนจัดและควบคุมรายการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ (NBT) และมีช่วง ศิลปะยึกยือเพื่อพัฒนาจิตและสร้างสำนึกสวัสดิภาพสัตว์ โดย ดร.พลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ศรีลังกาและมัลดิฟส์ นายกสโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ อีกด้วย
สำหรับ Highlight คือการเสวนาเรื่อง 8 ปีการบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและ การจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 โดยคุณนิกร จำนง อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.... นายสัตวแพทย์ธีระวุฒิ สุวัธนะเชาว์ ที่ปรึกษากรมปศุสัตว์ คุณเจษฎา อนุจารี ที่ปรึกษากฎหมายสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ดำเนินการโดย รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร เลขาธิการมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทยและอดีตคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยมีการเปิดเวที ให้ผู้เข้าร่วม แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเครือข่ายผู้รักสัตว์ประเด็น 8 ปี การบังคับใช้และกรณีศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไข โดยที่ประชุมเห็นว่า ข้อดีหลังจากการประกาศบังคับใช้กฎหมาย 8 ปี เช่น ประชาชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รับรู้และตื่นตัวเกี่ยวกับกฎหมาย รวมทั้งมีพฤติกรรมทางบวกรวมทั้งค่านิยมในการ ปฏิบัติต่อสัตว์ที่ดีมากยิ่งขึ้น เช่น มีการร้องทุกข์กล่าวโทษและมีคำพิพากษาตัวอย่างในการตัดสินคดีที่รวดเร็ว มีการออกกฎหมายลำดับรอง อย่างต่อเนื่อง มากกว่า 14 ฉบับ และกำลังดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อจะออกเป็นกฎหมายลำดับรอง เช่น เรื่องสถานสงเคราะห์สัตว์ และเรื่องสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้จัดตั้งกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการเพื่อบริการช่วยเหลือสัตว์ ตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมายฉบับนี้ มีการจัดตั้งสถานพยาบาลสัตว์ ประจำอำเภอและจังหวัด โดยกรมปศุสัตว์ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อให้บริการด้านสุขภาพ สัตว์ป่วย สัตว์พิการ สัตว์ตั้งท้องหรือลูกอ่อน สัตว์ในสถานสงเคราะห์รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของที่อาศัยอยู่ในวัด โรงเรียน โดยสถานพยาบาลประจำอำเภอทุกแห่งของกรมปศุสัตว์จะมีสัตวแพทย์ประจำ ในการดูแลสัตว์ในภาวะฉุกเฉิน ก่อนส่งต่อในการทำหมัน ฉีดวัคซีน ซึ่งการบริการเหล่านี้ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีการเพิ่มช่องทางการรับเหตุร้องเรียน ผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่สนับสนุนภารกิจกรมปศุสัตว์ นอกเหนือจากการติดต่อผ่านโทรศัพท์หรือการแจ้งเหตุด้วยตนเอง ทำให้กรมปศุสัตว์สามารถบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดได้ทันท่วงที นานาอารยะประเทศให้ความสนใจเกี่ยวกับกฎหมายและเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีให้กับประเทศไทย
สำหรับปัญหาและอุปสรรค ระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย 8 ปี เช่น ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการติดตาม การบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้อำนวยความยุติธรรมเท่าที่ควร การร้องทุกข์กล่าวโทษ มักไม่ค่อยได้รับความสะดวก หรือขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานก็ยังมีความไม่ชัดเจน ในการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขาดการบูรณาการแก้ไขปัญหา ได้อย่างเต็มศักยภาพ แม้กลไกราชการส่วนกลางจะมีความพยายามกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น แต่อำนาจหน้าที่และกฎหมายบางฉบับยังมีข้อจำกัดในการดำเนินงาน มีความพยายามในการจัดให้ขึ้นทะเบียนสัตว์และองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ตามกฎหมาย เพื่อให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์และสัตว์จรจัด แต่การดำเนินการก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร การให้ข้อมูลและความสนใจของสาธารณชน โดยเฉพาะการนำพ.ร.บ.ฯ และกฎหมายลำดับรอง รวมถึงการตีความและการนำไปใช้กฎหมาย ยังขาดความแม่นยำชัดเจน บางครั้งก็สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นทางสังคม นอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้วการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากสัตว์ กระแสสังคมมักจะมองผลที่เกิดจากปลายเหตุ และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสัตว์ มักขาดองค์รวมและองค์ประกอบตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล ปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ ปัญหาสัตว์จรจัด ปัญหาสัตว์เลี้ยงที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ การป้องกันโรคต่าง ๆ ที่สัตว์เป็นพาหะ ปัญหาการขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงสัตว์ มักไม่ค่อยได้รับการนำเสนอหรือแก้ไขให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ความชัดเจนของความรับผิดความเป็นเจ้าของสัตว์ เวลาสัตว์ไปสร้างความเสียหายมักจะไม่มีผู้รับผิดชอบ ความต่อเนื่องของคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพ ในการนำเสนอนโยบาย แผน มาตรการและแนวทาง ต่างๆ ที่รวดเร็วควบคู่นอกจากการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนั้นยังขาดกองทุนช่วยเหลือสัตว์หรือสถานสงเคราะห์สัตว์ รวมทั้งการพัฒนาสถานกักสัตว์เลี้ยงของท้องถิ่นและเอกชน รวมทั้งกองทุนเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเดือดร้อนจากสัตว์ ขาดการมีส่วนร่วมอย่างถูกต้องเหมาะสม ของบุคคล องค์กร ที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้มีผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ขาดกลไกการติดตาม การตรวจสอบ ด้านงบประมาณที่โปร่งใส เป็นธรรม ของบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น
โดยที่ประชุมมองว่ากฎหมายฉบับนี้ดีเพราะเป็นบรรทัดฐานทางสังคมในด้านการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ของประเทศไทย สำหรับตัวบทรายมาตราตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ค่อนข้างครอบคลุมและปกป้องการทารุณกรรมและการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี แต่เมื่อการบังคับใช้เป็นระยะเวลากว่า 8 ปี สภาพบริบททางสังคมบางประการก็เปลี่ยนไป การเพิ่มเติมหรือขยายองค์ประกอบบางรายมาตรา จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ในการอำนวยความสะดวกและสร้างความยุติธรรม ให้เกิดดุลยภาพ สมดั่งเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้มากยิ่งขึ้น ที่ประชุมจึงเสนอประเด็นปัญหาพร้อมข้อเสนอในการปรับปรุงเพิ่มเติม 5 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การเสนอเพิ่มเติมสัตว์ที่อาศัยในธรรมชาติให้คุ้มครองมากกว่า 5 ชนิด 2.การระบุความชัดเจนของความเป็นเจ้าของสัตว์ ในกรณีสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ แต่อาจมีบุคคลที่มีพฤติกรรมการเลี้ยงดูสัตว์เป็นประจำ รวมทั้งการเสนอความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์ ในการสร้างความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น 3.การจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงบางชนิด เช่น สัตว์เลี้ยงควบคุมพิเศษหรือ สัตว์ดุร้าย 4.การเสนอเพิ่มเติมพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ 5.การเสนอแก้ไขตัวบทเพิ่มเติมกรณี การฆ่าหรือการทำร้ายสัตว์เท่าที่ไม่เกินสมควรแห่งเหตุ
ทั้งนี้ผลของการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนร่วมกันระหว่างเครือข่ายผู้รักสัตว์ จะมีการจัดทำเป็นข้อสรุปแนวทางพร้อมข้อเสนอแนะในการบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหาการบังคับใช้หรือแก้ไขเพิ่มเติมตัวบทกฎหมายตามความเห็นชอบขององค์กรเครือข่าย และให้สาธารณชนรับทราบเพื่อจะได้ร่วมกันเฝ้าระวังป้องกัน รวมทั้งแก้ไขปัญหาการทารุณกรรมและร่วมกันพัฒนาจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ต่อไป
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย 02 255 5805-7 E-mail : info@thaispca.org
แสดงความคิดเห็น