พื้นที่โฆษณา

ข่าวราชการ, รัฐวิสาหกิจ - ตัวเลข CPI ไทยต้องดีขึ้น . . ฝันให้ไกล ไปให้ถึง

ข่าวประชาสัมพันธ์

Press Release

ชอบหน้านี้?
News PR... 4 พ.ค. 66 12.2K

ฟังข่าวนี้

พื้นที่โฆษณา

ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) เป็นดัชนีที่ดำเนินการประเมินโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International: TI ทีเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และประเทศไทยกเป็น 1 ใน 180 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการประเมินจัดอันดับดัชนีการรับรู้ทุจริต ซึ่งเป็นตัวสะท้อนภาพลักษณ์ความโปร่งใสภายในประเทศ แต่ที่ผ่านมาพบว่า คะแนนของไทยยังอยู่ในระดับที่ยังไม่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร โดยในปี พ.ศ. 2565 ได้คะแนน CPI 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก แม้จะดีขึ้นจากปี 2564 แต่ก็ยังไม่ถือว่าอยู่ในอันดับที่น่าชื่นชม ด้วยแหล่งข้อมูลที่ทาง TI ใช้ในการประเมินผลประเทศไทยมาจาก 9 แหล่งข้อมูล นำมาใช้คำนวณดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ดังนี้

  1. Varieties of Democracy Institute (V-DEM): วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ
  2. Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI)): ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1) ด้านการเมือง 2) ด้านเศรษฐกิจ และ 3) ด้านการจัดการของรัฐบาล
  3. Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU): วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ อาทิ ความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง การมีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณและด้านยุติธรรม เป็นต้น
  4. Global Insight Country Risk Ratings (GI): ความเสี่ยงของการที่บุคคลหรือบริษัทจะต้องเผชิญกับการติดสินบนหรือการคอร์รัปชันในรูปแบบอื่น เพื่อที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น
  5. Political Risk Services International Country Risk Guide (ICRG): การประเมินการคอร์รัปชันในระบบการเมือง ที่นักธุรกิจมักพบได้โดยตรงและบ่อยครั้ง อาทิ การเรียกรับเงินหรือการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาต
  6. IMD World Competitiveness Yearbook (IMD): ข้อมูลสถิติทุติยภูมิและผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไปประมวลผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ คือ 1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ 4) โครงสร้างพื้นฐาน
  7. The Political and Economic Risk Consultancy (PERC): สำรวจข้อมูลจากนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้น ๆ ได้แก่ นักธุรกิจจากสมาคมธุรกิจ หอการค้าประเทศต่าง ๆ เป็นต้น
  8. World Economic Forum (WEF): ได้จัดทำรายงานการวัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั่วโลก (The Global Competitiveness Report: GCR) โดยรวบรวมข้อมูลด้านต่าง ๆ ผ่าน “แบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร” (The Executive Opinion Survey: EOS) ซึ่งมีข้อคำถามเกี่ยวกับ “ประเด็นการทุจริตคอร์รัปชัน”
  9. World Justice Project (WJP): เป็นดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law) โดยมีเกณฑ์การวัด ประกอบด้วย 8 เกณฑ์ ได้แก่ ขีดจำกัดอำนาจของรัฐบาล (Constraints on Government Powers) ปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption) การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government) สิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights) ความสงบเรียบร้อยของสังคม (Order and Security) การบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Enforcement) กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (Civil Justice) และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice)

ซึ่งเห็นได้ว่าครอบคลุมตั้งแต่ด้านการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจสอบอำนาจของภาครัฐ การประเมินระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ไปจนถึงด้านความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และแน่นอนว่าคงเป็นคำถามในใจของหลาย ๆ คน ว่า “จำเป็นแค่ไหนที่ไทยต้องให้ความสำคัญกับอันดับคะแนน CPI และ คะแนน CPI ส่งผลกระทบอะไรกับประเทศไทยบ้าง”

คำตอบคือ “เพราะ CPI สะท้อนภาพลักษณ์ด้านความสุจริตโปร่งใสของประเทศ จึงไม่สามารถมองข้ามไปได้ อีกทั้งตัวเลขที่ดี ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตลอดจนการไร้ซึ่งการทุจริตคอร์รัปชันย่อมนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง”

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงมีการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ กลุ่มองค์กร และภาคเอกชนเพื่อมุ่งยกระดับคะแนน CPI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สามารถประเมินค่าความสำเร็จออกมาในเชิงตัวเลขได้ ในขณะเดียวกัน การทำงานร่วมกันที่เกิดขึ้นนี้ ก็เป็นความมุ่งหวังสำคัญของคนไทย นั่นคือ “ให้ทุจริตคอร์รัปชันบ่อนทำลายชาติบ้านเมืองหมดไปจากสังคมไทย” โดยมีแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (21) ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 – 2580) ได้กำหนดเป้าหมาย “ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ” และกำหนดตัวชี้วัด “ดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย (อันดับ/คะแนน)” ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการขับเคลื่อน มีวัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1) เพื่อส่งเสริมการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย ให้เป็นไปตามเป้าหมาย 2) เพื่อให้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและผลักดัน
การดำเนินงานเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) อย่างต่อเนื่อง 3) เพื่อพัฒนาระบบป้องกันการรับสินบนของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ 4) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม 5) เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินคดีทุจริต และเผยแพร่ผลการดำเนินคดีทุจริตให้สาธารณชนรับทราบ และ 6) เพื่อพัฒนาระบบตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงได้โดยง่าย โดยมีเป้าหมายให้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566 อยู่ในอันดับ 1 ใน 53 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 51 คะแนน และปี พ.ศ. 2567 อยู่ในอันดับ 1 ใน 51 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 53 คะแนน

แน่นอนว่า เป้าหมายจะสำเร็จได้ต้องมาจากความร่วมมือจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ และในประเทศไทยไม่ได้มีเพียงหน่วยงาน ป.ป.ช. เพียงหน่วยงานเดียวที่เป็นเจ้าภาพหลัก แต่ยังได้มีการสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน อาทิ จัดตั้งคณะทำงานด้านการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อบูรณาการข้อมูล ประกอบด้วย ผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงาน ก.พ.ร. สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ดีขึ้น พัฒนาระบบป้องกันการรับสินบนของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้มาตรฐาน ISO 37001 ระบบการจัดการต่อต้านการติดสินบน (Anti - Bribery Management Systems) ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการจัดการเพื่อต่อต้านการติดสินบน โดยองค์การมาตรฐานสากล (International Organization for Standardization: ISO) มาใช้ในการบริหารจัดการองค์การ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดสินบน และสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งจัดให้ประชาชนผู้รับบริการสามารถตรวจสอบผลการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนผ่านช่องทางหรือระบบที่มีความชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงยึดมั่นในนโยบาย No Gift Policy ที่สร้างความตระหนัก สร้างวัฒนธรรม “ไม่รับของขวัญ ของกำนัล” ที่จะเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง เกิดเป็นช่องโหว่ต่อการรับสินบนได้ เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งขณะนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการผลักดันพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... ที่จะมีทั้งมาตรการเอาผิดตามหลักกฎหมายที่มีความครอบคลุม ทั้งยังได้วางหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม โดยกำหนดให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของหน่วยงานต่าง ๆ นำไปเป็นมาตรฐานกลาง ในการปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมแห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 5 (4) “คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ” หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงาน ก.พ. และองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของหน่วยงานต่าง ๆ นโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งปี 2566 นี้ ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญ และรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศควรมีนโยบายที่จริงจังในการแก้ไขปัญหาการทุจริตภายในหน่วยงานรัฐ เช่น ผู้บังคับบัญชามีนโยบายตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานรัฐนั้น ว่ามีการปฏิบัติงานที่ทุจริตหรือไม่ ตลอดจนนโยบายการหาเสียง หรือการเสนองบประมาณให้เป็นไปตามหลักประโยชน์สูงสุดเพื่อประชาชน เป็นต้น

ไม่ว่าผลลัพธ์ของระดับคะแนน CPI จะสามารถผลักดันให้เป็นไปตามที่ใจฝันได้หรือไม่ สิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มต้นร่วมกันทำอย่างจริงจังในทุกหน่วยงานคือ อย่าปล่อยให้ “ชื่อเสีย” ของการทุจริตในประเทศ ดังกระฉ่อนข้ามชาติ ตลอดจนควบคุมให้เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ที่มาจากภาษีประชาชน ไม่รั่วไหลไปอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง รวมถึง เจ้าหน้าที่รัฐควรมีความตระหนักในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ลดปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตน และคนไทยทุกคน ต่างร่วมด้วยช่วยกันฉีดวัคซีน “ไทยไม่ทนต่อการทุจริตคอร์รัปชัน” สิ่งเหล่านี้ นอกจากจะช่วยยกระดับคะแนน CPI ของไทยให้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยพัฒนาชาติบ้านเมืองให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงในอนาคต

----------------------------------------------

พื้นที่โฆษณา
ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้จัดทำโดย News PR ซึ่งเป็นสมาชิกเว็บไซต์ของเรา ความคิดเห็นของผู้เขียนและเนื้อหาที่แบ่งปันในหน้านี้ถือเป็นความคิดเห็นของตนเอง และอาจไม่จำเป็นต้องแสดงถึงมุมมองของ ไทย พีอาร์ นิวส์ หากบทความนี้มีความไม่เหมาะสม โปรดใช้วิจารญาณในการรับชม เนื่องจากทางเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
พื้นที่โฆษณา