ข่าวการศึกษา - กิจกรรม "13th SCiUS Forum" เวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
Press Release
ฟังข่าวนี้
วันอังคารที่ 2 พฤษภาคม 2566 อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ปรียานันท์ แสนโภชน์ นำคณะผู้บริหาร บุคลากร และนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นเจ้าบ้านต้อนรับผู้เข้าร่วมงานในพิธีเปิดกิจกรรม SCiUS Forum ครั้งที่ 13 ซึ่งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมเป็นเจ้าภาพหลักจัดงาน ณ ห้อง UB003 อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ มหาวิทยาลัยพะเยา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวถึงความสำคัญและวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ว่า โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554 และได้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ในปีการศึกษา 2558 ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนโครงการ วมว. ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว จำนวน 6 รุ่น การจัดกิจกรรม SCiUS Forum ครั้งที่ 13 ของโครงการ วมว. ระหว่างวันที่ 2-5 พฤษภาคม 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียน ในโครงการ วมว. ได้นำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ เผยแพร่ผลงาน ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ และเป็นการพัฒนาทักษะกระบวนการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ระหว่างสถาบัน กิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ 375 โครงงาน ที่ครอบคลุมใน 7 สาขาวิชา ทั้งแบบ Oral Presentation และ Poster Presentation กิจกรรม Idea Pitching และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมตามฐานการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยพะเยาการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีนักเรียนในโครงการ วมว. จากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนคู่ศูนย์เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 16 มหาวิทยาลัย 19 โรงเรียน รวมผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น จำนวน 1,130 คน ทั้งนี้มีคณะครูและนักเรียนจากประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 4 โรงเรียน รวม 19 คน ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกในการยกระดับการจัดกิจกรรม SCiUS Forum ที่มีนักเรียนต่างประเทศเข้าร่วม ให้มุ่งสู่ความเป็นสากล และระดับนานาชาติต่อไป
ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทรให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นเจ้าภาพ ในการจัดกิจกรรม SCiUS Forum ครั้งที่ 13 ขึ้น โดยมีแขกผู้มาเยือนจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ในเขตอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นดั่งเมืองหลวงศูนย์กลางทางวัฒนธรรมไทลื้อของประเทศไทย ที่ยังคงมีวิถีชีวิตเป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มชน ที่สามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญ คือ "ลายต่ำก้าว" ซึ่งถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นแถบชุดครุยวิทยาฐานะของบัณฑิตมหาวิทยาลัยพะเยา อย่างน่าภาคภูมิใจ นับเป็นความโชคดีของจังหวัดพะเยา ที่มีมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นศูนย์กลางของการศึกษาและการเรียนรู้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้ชุมชน ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยพะเยาที่ว่า "ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน"
รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์กล่าวเปิดงานว่า นับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่มีนักเรียนจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ และเปิดประสบการณ์ใหม่ เป็นการพัฒนาทักษะกระบวนการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงเป็นการสร้างเครอข่ายภาคีความร่วมมือระหว่างโรงเรียนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มพูนทักษะทางสังคม หรือ Soft Skills ให้เกิดแก่นักเรียนในโครงการ วมว. ด้านการทำงานเป็นทีม การอยู่ร่วมกันในสังคม และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งถือว่าเป็นการเสริมสร้างจิตวิทยาศาสตร์ อีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นกิจกรรม SCiUS Forum ครั้งที่ 13 นี้ จึงเป็นเวทีสำคัญในการแสดงศักยภาพและความสามารถของนักเรียนในโครงการ วมว. อันเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการพัฒนาสร้างงานวิจัยใหม่และขับเคลื่อนงานวิจัยสู่เวทีระดับโลกต่อไป
กิจกรรม SCiUS Forum ครั้งที่ 13 ในระหว่างวันที่ 2 - 5 พฤษภาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยพะเยา มีการนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สากล ด้วยกระบวนการ Active learning ผ่านรูปแบบ Digital platform กิจกรรมพิเศษ Idea Pitching การนำเสนอแบบ poster การบรรยายพิเศษเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษาและนวัตกรรมหลากหลายหัวข้อ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมแต่ละวันได้ทาง Facebook เพจ 13th SCIUS FORUM หรือเว็บไซต์ https://sciusforum13.satit.up.ac.th/
แสดงความคิดเห็น