พื้นที่โฆษณา

ข่าวราชการ, รัฐวิสาหกิจ - รมว.สุชาติ เปิดวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2566 รับ 7 ข้อเรียกร้อง ย้ำ กระทรวงแรงงานมุ่งยกระดับศักยภาพ – พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานทุกมิติ

ข่าวประชาสัมพันธ์

Press Release

ชอบหน้านี้?

ฟังข่าวนี้

พื้นที่โฆษณา

รมว.แรงงาน เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมรับข้อเรียกร้องวันแรงงานทั้ง 7 ข้อ ย้ำกระทรวงแรงงานมุ่งมั่นส่งเสริมให้แรงงานมีงานทำ ได้รับการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงในทุกมิติสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนไป

วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้นำแรงงาน และพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งในช่วงเช้าที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงแรงงานได้เป็นประธานในพิธีทำบุญถวายภัตตาหารเช้าเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป โดยมี สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ณ บริเวณชั้นล่าง อาคารกระทรวงแรงงาน ในส่วนของการเคลื่อนริ้วขบวนเทิดพระเกียรติ ริ้วขบวนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และริ้วขบวนของผู้ใช้แรงงาน ในปีนี้ได้ตั้งริ้วขบวนที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ และเคลื่อนไปยังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

นายสุชาติ เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้ตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทันสมัย ทัดเทียมกับนานาประเทศ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหากับการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 รัฐบาลได้มีมาตรการลดภาระค่าครองชีพ และเพิ่มรายรับให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผ่านโครงการสำคัญต่าง ๆ เช่น โครงการ มาตรา 33 เรารักกัน โครงการเยียวยานายจ้าง การดำเนินโครงการ Factory Sandbox ในพื้นที่ของสถานประกอบการ ทำให้โรงงานไม่ต้องปิดตัวลงส่งผลให้การส่งออกปี 2564 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี รัฐบาลขอขอบคุณและชื่นชมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยได้มีมติเห็นชอบให้ขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนโดยขยายอายุขั้นสูงจาก 60 เป็น 65 ปี ให้สิทธิผู้ประกันตน มาตรา 33 และ มาตรา 39 ที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินกรณีชราภาพ เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน และปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนการทำงานแบบเวิร์คฟอร์มโฮม โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงเวลาทำงาน พักผ่อน วันลา ให้ชัดเจน ให้สิทธิลูกจ้างปฏิเสธการติดต่อสื่อสารหลังเวลางานได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีความมุ่งมั่นส่งเสริมให้แรงงานมีงานทำ ได้รับการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงในทุกมิติสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ให้การส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึงให้มีความปลอดภัยในการทำงาน ยกระดับประกันสังคมเพื่อให้แรงงานได้รับประโยชน์สูงสุด เร่งรัดปรับปรุง แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายสุชาติ ยังกล่าวว่า การจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติได้ยื่นข้อเรียกร้อง จำนวน 7 ข้อ ได้แก่ 1) รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 2) ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ - หรือประกาศเป็นกฎกระทรวง ให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง “เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง 3) ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม 4) ขอให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน 5) ขอให้รัฐเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 รวมถึงการให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้ายหรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง ซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติไปแล้วและภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ 6) เพื่อเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และ 7) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2566 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน โดยข้อเรียกร้องที่กล่าวมานั้น เพื่อนำเสนอปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และความต้องการของพี่น้องแรงงาน โดยเชื่อมั่นว่าข้อเรียกร้องทั้งหมด 7 ข้อ จะเร่งดำเนินการและติดตามให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานพึงได้รับตามกฎหมาย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในการทำงาน มีหลักประกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

สำหรับกิจกรรมในวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานยังได้ออกบูธจัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการด้านแรงงาน เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านแรงงาน ให้ความรู้เกี่ยวกับแรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศและการคุ้มครองคนหางาน ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน และให้ความรู้เกี่ยวกับความคุ้มครองผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมต่างๆ เช่น โชว์ผลิตภัณฑ์งานฝีมือผู้เข้ารับการฟื้นฟู การตรวจสุขภาพเบื้องต้นจากโรงพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคม กิจกรรมเล่นเกมตอบปัญหาแจกรางวัล เป็นต้น

พื้นที่โฆษณา
ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้จัดทำโดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นสมาชิกเว็บไซต์ของเรา ความคิดเห็นของผู้เขียนและเนื้อหาที่แบ่งปันในหน้านี้ถือเป็นความคิดเห็นของตนเอง และอาจไม่จำเป็นต้องแสดงถึงมุมมองของ ไทย พีอาร์ นิวส์ หากบทความนี้มีความไม่เหมาะสม โปรดใช้วิจารญาณในการรับชม เนื่องจากทางเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
พื้นที่โฆษณา