พื้นที่โฆษณา

ข่าวบ้าน, คอนโด, อสังหาฯ - เอสซีจี เซรามิกส์ แถลงผลประกอบการปี 2565 ยอดขายยังโต สะดุดราคาพลังงานฉุดผลประกอบการไตรมาส 4 เตรียมปรับแผนการผลิตสู้ พร้อมชู COTTO เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

ข่าวประชาสัมพันธ์

Press Release

ชอบหน้านี้?
PR SOLUTION... 25 ม.ค. 66 13.5K

ฟังข่าวนี้

พื้นที่โฆษณา

ผลประกอบการปี 2565 เอสซีจี เซรามิกส์ มีรายได้จากการขาย 13,157 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17 จากยอดขายในประเทศและการส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทขาดทุน 228 ล้านบาท จากการตั้งสำรองด้อยค่าของสินทรัพย์ และค่าเผื่อมูลค่าสินค้าลดลงของสินค้าคงเหลือของโรงงานผลิตแผ่นหินประดิษฐ์ขนาดใหญ่ ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการไตรมาส 4 เตรียมรับมือด้วยแผนลดต้นทุนการผลิตและเร่งโครงการ Energy Saving พร้อมดัน COTTO ขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่

นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์ “คอตโต้” (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) เปิดเผยงบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของ COTTO ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 3,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ลดลง ร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน ขาดทุนสำหรับงวดเท่ากับ 741 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลประกอบการที่รวมการตั้งสำรองการด้อยค่าของสินทรัพย์ การตั้งค่าเผื่อมูลค่าสินค้าลดลงของสินค้าคงเหลือของโรงงานผลิตแผ่นหินประดิษฐ์ขนาดใหญ่ 847 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำหรับแผนการออกจากงานด้วยความเห็นชอบร่วมกัน 20 ล้านบาท ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการสำคัญ (Key Items) ดังกล่าว ขาดทุนจากการดำเนินงานปกติจะอยู่ที่ 47 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 178 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลัก คือ ต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลประกอบการปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 13,157 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปี 2564 ร้อยละ 17 เป็นผลจากการปรับราคาขายขึ้นและยอดขายภายในประเทศที่เติบโตขึ้น โดยบริษัทขาดทุนเท่ากับ 228ล้านบาท ลดลงร้อยละ 139 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมรายการสำคัญ (Key Items) กำไรจากการดำเนินงานปกติจะเท่ากับ 469 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 เนื่องจากราคาพลังงานพุ่งสูงจนส่งผลกระทบต่อกำไรในไตรมาสที่ 4 และคาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และสถานการณ์ตลาดกระเบื้องเซรามิกในปีนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

นายนำพล เปิดเผยว่า คาดว่าความต้องการใช้สินค้ากระเบื้องเซรามิกโดยรวมในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ตามเศรษฐกิจโดยรวมที่น่าจะขยายตัวและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นโดยมีแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามในด้านต้นทุนการผลิตยังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะราคาพลังงาน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และหนี้ครัวเรือนที่มีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

“ในปีนี้ บริษัทฯ เตรียมรับมือกับต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ด้วยการลดต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งโครงการ Energy Saving ให้เกิดผลเร็วขึ้น ในส่วนของการสร้างรายได้และกำไร คาดการณ์ว่าจะได้ส่วนเพิ่มจากสินค้าและบริการใหม่ ๆ ทั้ง LT by COTTO, Pool & Decorative Tiles, C’Tis บริการติดตั้งวัสดุกรุผิวครบวงจร, ผลิตภัณฑ์ติดตั้งและซ่อมแซมพื้นผิว, SUSUNN Smart Solution ธุรกิจด้านการจัดการพลังงานและด้านวิศวกรรม” นายนำพล กล่าว

ด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นกว่าปีก่อน ดังนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมกับรักษาส่วนแบ่งการตลาดและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ บริษัท ฯ มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ด้านการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายเพื่อยกระดับความพึงพอใจของลูกค้าและคู่ค้า โดยการร่วมกับร้านค้าโมเดิร์นเทรด ผู้แทนจำหน่าย รวมถึงช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้ง่ายและทั่วถึง บริหารพอร์ตสินค้า โดยจะเน้นขายสินค้าที่มีกำไรสูง ตลอดจนปรับราคาสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐาน ทั้งในด้านดีไซน์ ความสวยงาม คุณภาพสินค้า และการบริการที่เหนือกว่า เมื่อเทียบกับสินค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่มุ่งแข่งขันเรื่องราคาเป็นหลัก และมุ่งที่จะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเป็นกำลังซื้อที่สำคัญ

“ในปีนี้ COTTO มุ่งเน้นที่จะสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่(Young Generation)โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าของบ้าน สถาปนิก และดีไซน์เนอร์ ให้มากขึ้น เนื่องจากเรามองว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะกลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากขึ้นในอนาคตด้วย เราจึงมีแนวทางพัฒนาสินค้าภายใต้ดีไซน์คอนเซปต์ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่อายุน้อยลง และมีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น โดยจะมีการออกสินค้าคอลเลกชันใหม่ ที่จะมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหม่ เพื่อให้ COTTO มีภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัยขึ้นและเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้มากขึ้น ผสมผสานกับการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในแต่ละ Segment ได้ตรงจุดและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เชื่อว่าถ้าเราสามารถปรับการสื่อสารได้หลากหลายรูปแบบตามกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนไปในแต่ละรุ่นก็จะทำให้ COTTO สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น สุดท้ายแล้วจะทำให้ลูกค้านึกถึงแบรนด์ COTTO อยู่เสมอ เป็นการตอกย้ำว่าเราจะยังคงเป็นผู้นำเทรนด์และสามารถตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าในอดีต ปัจจุบัน หรือ ในอนาคต” นายนำพล กล่าวสรุป

พื้นที่โฆษณา
ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้จัดทำโดย PR SOLUTION ซึ่งเป็นสมาชิกเว็บไซต์ของเรา ความคิดเห็นของผู้เขียนและเนื้อหาที่แบ่งปันในหน้านี้ถือเป็นความคิดเห็นของตนเอง และอาจไม่จำเป็นต้องแสดงถึงมุมมองของ ไทย พีอาร์ นิวส์ หากบทความนี้มีความไม่เหมาะสม โปรดใช้วิจารญาณในการรับชม เนื่องจากทางเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
พื้นที่โฆษณา